Emotional Intelligence คือ ความฉลาดทางอารมณ์ของบุคคลในการจัดการอารมณ์ของทั้งตนเองและคนรอบข้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังสามารถควบคุมอารมณ์และสติภายใต้สถานการณ์กดดัน และตระหนักว่าพฤติกรรมจะส่งผลต่อบุคคลและสิ่งรอบข้างอื่น ๆ อย่างไรบ้าง
เรามักจะเห็นคนพูดถึง IQ กันมากมาย ซึ่ง IQ นั้นคือความฉลาดทางสติปัญญา แต่หลายคนอาจมองข้าม EQ ซึ่งเป็นความฉลาดทางอารมณ์ที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่า IQ เลยทีเดียว
Emotional Intelligence คือ ความฉลาดทางอารมณ์ แบ่งออกได้เป็น 5 ข้อ
ความฉลาดทางอารมณ์ 5 ข้อตามหลักการของแดเนียล โกลแมน หนึ่งในผู้เขียนหนังสือเรื่อง On Emotional Intelligence ของ Harvard Business Review มีดังนี้
1. ความตระหนักรู้ในตัวเอง
เราเคยพูดถึงประเด็นเรื่องความตระหนักรู้ในตัวเองในบทความก่อน ๆ ความสามารถในการตระหนักรู้ในตัวเองจะช่วยให้เรารู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเองในทุก ๆ สถานการณ์ นอกจากนี้ การตระหนักรู้ในตัวเองยังทำให้เราซื่อสัตย์กับอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองอีกด้วย
2. ความสามารถในการควบคุมตัวเอง
ทักษะในการควบคุมตัวเองถือว่าเป็นคุณสมบัติที่คนทำงานทุกตำแหน่งงาน ทุกสายงานควรมี เพราะหากขาดคุณสมบัติข้อนี้ไปจะทำให้ดูเป็นคนหมดวุฒิภาวะและเป็นการยากที่จะสร้างความเชื่อถือหรือความไว้เนื้อเชื่อใจได้ ความสามารถในการควบคุมตัวเองจะรวมไปถึงการควบคุมอารมณ์ของตัวเอง การคิดใตร่ตรองก่อนแสดงพฤติกรรมใด ๆ ออกไป และความสามารถในการปรับตัวและเปิดรับสิ่งใหม่ ๆ ด้วย
3. การมีแรงจูงใจ
การมีแรงจูงใจคือการมีแรงกำลังที่อยากจะทำโดยใช้ความพยายามทำสิ่งหนึ่งให้สำเร็จและบรรลุเป้าหมาย การมีแรงจูงใจจะทำให้รู้สึกอยากจะพัฒนาตัวเองอยู่เสมอและทำให้เป็นคนที่ไม่ชอบหยุดอยู่กับที่
4. ความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
มนุษย์ทุกคนย่อมมีอารมณ์ล้วนเป็นเรื่องปกติธรรมดา การมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นเป็นการเข้าใจธรรมชาติอารมณ์ของมนุษย์ว่ามันสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทำให้เกิดการยอมรับโดยไม่ตัดสิน อีกทั้งยังมีความไวต่อความรู้สึกของผู้อื่นและเลือกปฏิบัติอย่างเหมาะสม
5. ความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี
มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ต้องอยู่รวมกันเพื่อความอยู่รอด ทักษะการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่นจึงมีความสำคัญมาก ๆ โดยเฉพาะในยุคข้อมูลข่าวสารที่ใครมีคอนเน็กชันดีก็ยิ่งได้เปรียบ การสรา้งความสัมพันธ์ที่ดีอาศัยการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ การทำงานร่วมกับผู้อื่น รวมไปถึงการบริหารความขัดแย้ง เป็นต้น
6 เคล็ดลับพัฒนา EQ เสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์
ความฉลาดทางอารมณ์กำลังจะกลายเป็นทักษะที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในโลกของการทำงานทั่วโลก และด้วยการแข่งขันในตลาดแรงงานที่ค่อนข้างดุเดือดและมีการแข่งขันสูง ในบทความนี้ GreatDay HR มีนำเคล็ดลับพัฒนา EQ มาฝากคุณผู้อ่าน
1. ฝึกฝนทักษะการสื่อสาร
ทักษะการสื่อสารเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของการมี EQ ที่ดี การสื่อสารไม่เพียงแต่ต้องนำเสนอความเป็นมิตรและความเป็นมืออาชีพในคราวเดียวกันเท่านั้น แต่ยังเป็นการสื่อสารอย่างชัดเจนและตรงประเด็นอีกด้วย
ลองฝึกพูดหน้ากระจกหรือลองอัดวิดีโอตัวเองตอนพูดดูสักครั้ง เพื่อดูว่าการพูดของเรามีตรงไหนที่ควรพัฒนาหรือปรับปรุง นอกจากนี้ การฝึกยังช่วยลดความประหม่าขณะพูดในสถานการณ์จริงอีกด้วย
2. ตอบสนองแทนที่จะตอบโต้ต่อความขัดแย้ง
เมือ่อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม แน่นอนว่าจะต้องมีความขัดแย้งเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อเกิดความขัดแย้ง เราเลือกที่จะตอบโต้กับด้วยอารมณ์ที่ปะทุออกมา หรือเลือกที่จะตอบสนองอย่างชาญฉลาด? ผู้ที่มีความฉลาดทางอารมณ์จะรู้วิธีสงบสติอารมณ์ในสถานการณ์ที่ตึงเครียด อีกทั้งยังไม่หุนหันพลันแล่น เพราะผลลัพธ์ที่ได้อาจนำไปสู่ปัญหาที่ใหญ่กว่า
3. ฝึกการเป็นผู้ฟังที่ดี
ในการสนทนา ผู้ที่มีความฉลาดทางอารมณ์จะตั้งใจฟังไม่ใช่เพื่อให้ผู้พูดรู้สึกดีที่มีคนฟังเท่านั้น แต่ยังเพื่อการรับรู้ข้อมูลที่ชัดเจน แทนที่จะรอให้ถึงคราวตัวเองพูด ผู้ที่มีความฉลาดทางอารมณ์จะต้องแน่ใจว่าเข้าใจสิ่งที่กำลังพูดก่อนที่จะพูดออกไป อีกทั้งยังให้ความสนใจกับรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างภาษากายเพื่อที่จะตอบสนองอย่างเหมาะสม และแสดงความเคารพต่อผู้พูดด้วย
4. ฝึกฝนคิดบวก
อย่าประมาทพลังแห่งทัศนคติของคุณ เพราะทัศนคติเชิงลบมักจะถูกส่งต่อให้ผู้อื่นได้ง่ายกว่า ผู้ที่มีความฉลาดทางอารมณ์จะมีความตระหนักรู้ถึงอารมณ์ของคนรอบข้าง และมักจะส่งต่อพลังบวกออกไป การฝึกฝนการคิดบวกนั้นต้องอาศัยการเปลี่ยนทัศนคติ แนะนำให้หมั่นสำรวจความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง เขียนไดอารี่ออกมา หรือนั่งสมาธิเพื่อให้เกิดความตระหนักรู้ในตัวเองเพิ่มมากขึ้น
5. เปิดใจ เปิดกว้าง พร้อมรับคำติติง
ส่วนสำคัญในการเพิ่มความฉลาดทางอารมณ์คือต้องเป็นคนที่ยอมรับคำวิจารณ์ได้ แทนที่จะโกรธเคืองหรือพยายามจะตอบโต้ คนที่มี EQ สูงจะใช้เวลใตร่ตรองเพื่อทำความเข้าใจว่าคำติชมนั้นมาจากสาเหตุอะไรและจะมีวิธีไหนที่สามารถแก้ไขได้บ้าง
6. ฝึกเป็นคนที่คนอื่นสามารถเข้าถึงได้ง่าย
ผู้ที่ฉลาดทางอารมณ์มักจะแสดงออกว่าเป็นคนสามารถเข้าถึงได้ง่าย บุคคลเหล่านี้มักจะมีทักษะทางสังคมที่เหมาะสมและเป็นคนที่ยิ้มแย้มแจ่มใสอยู่เสมอ การฝึกเป็นคนที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายนั้นไม่มีหลักสูตรตายตัว แต่ต้องฝึกฝนในสนามจริงเลย นั่นก็คือการเข้าสังคมบ่อย ๆ
IQ หรือความฉลาดทางสติปัญญาไม่ได้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดอีกต่อไปในโลกแห่งการทำงานในยุคปัจจุบัน แต่ EQ หรือความฉลาดทางสังคมก็เข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น หากอยากแข่งขันได้ในตลาดแรงงาน ต้องหมั่นพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ