สำหรับเหล่ามนุษย์เงินเดือนแล้วนั้น การยื่นภาษีถือเป็นอีกหนึ่งหน้าที่ที่ควรต้องทำ ซึ่งในปัจจุบันนั้นเทคโนโลยีก้าวหน้ามากจนสามารถยื่นภาษีได้ผ่านเว็บไซต์ออนไลน์ แต่นอกจากจะสามารถยื่นภาษีออนไลน์ได้แล้ว ก็ยังสามารถยื่นแบบเป็นกระดาษได้ด้วยเช่นเดียวกัน
และสำหรับใครที่ยังไม่คุ้นเคยกับการเสียภาษีหรือยื่นภาษี ในบทความนี้ GreatDay HR ได้รวบรวมวิธียื่นภาษีมาฝากคุณผู้อ่านกัน
การยื่นภาษี ทำยังไง
การยื่นภาษีสามารถทำได้ 2 วิธี คือ
- ยื่นภาษีแบบกระดาษ สามารถยื่นได้ที่สรรพากรพื้นที่สาขา
- ยื่นภาษีแบบออนไลน์ สามารถยื่นได้โดยเข้าไปที่เว็บไซต์ https://www.rd.go.th
แต่นอกจาก 2 วิธีหลัก ๆ นี้แล้ว ยังสามารถส่งต่อให้หน่วยงานบริษัทที่สังกัดยื่นจ่ายภาษีให้ได้อีกด้วย โดยเอกสารที่จำเป็นสำหรับการยื่นภาษี คือ หนังสือรับรองเงินเดือน (หรือทวิ 50) จากนายจ้าง และเอกสารการลดหย่อนภาษีต่าง ๆ
สำหรับขั้นตอนการยื่นภาษีที่สรรพากรนั้นง่ายมาก ๆ เพราะแค่เตรียมเอกสารไปให้พร้อมแล้วเจ้าหน้าที่จะดำเนินการให้ทุกอย่างเสร็จสรรพ แต่ปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงระหว่างและหลังโควิดแพร่ระบาด กรมสรรพากรได้เปิดให้มีการยื่นภาษีออนไลน์ ซึ่งขั้นตอนนั้นไม่ยากและสามารถทำได้อย่างสะดวกง่ายดาย
ขั้นตอนแรกให้เข้าไปที่เว็บไซต์ www.rd.go.th จากนั้นคลิกเข้าไปที่เมนู “ยื่นแบบทุกประเภท” >>> “ภ.ง.ด. 90/91” >>> “ยื่นภาษี ภ.ง.ด. 90/91”
หากใครที่เคยใช้งานแล้วก็คลิกที่เข้าสู่ระบบแล้วใส่ชื่อผู้ใช้งานและรหัสต่าง ๆ ได้เลย แต่หากใครที่ยื่นภาษีออนไลน์ครั้งแรกก็ให้คลิกที่ สมัครสมาชิก
เมื่อเรามาอยู่ที่หน้า “แบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษี 2563 ภ.ง.ด. 90/91” ให้เลือก “สถานภาพผู้มีเงินได้” เลือก “ยื่นปกติ” แล้วให้คลิกที่ “ทำรายการต่อไป” อีกครั้ง เมื่อถึงหน้าถัดมาให้ “เลือกรายการเงินได้พึงประเมิน” ให้ตรงตามประเภทรายได้ ทางด้านขวามือ “เลือกเงินได้ที่ได้รับยกเว้น/ค่าลดหย่อน” ให้เราเลือกค่าลดหย่อนที่เราได้มา กรอกรายละเอียดส่วนรายได้ และกรอก “ค่าลดหย่อน” จากนั้นคลิกที่ “ทำรายการต่อไป”
ขั้นตอนสุดท้ายคือการตรวจสอบข้อมูล เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยให้คลิก “ยืนยันการยื่นแบบ” ระบบก็จะพาไปที่หน้าสุดท้าย ให้จดจำ “หมายเลขอ้างอิงการยื่นแบบ” เอาไว้ โดยสามารถสั่งปรินท์ก็ได้หรือถ่ายรูปเก็บไว้เป็นหลักฐานก็ได้
ทำไมต้องเสียภาษี
เป็นคำถามยอดฮิตตลอดกาลเลยก็ว่าได้ กับคำถามที่ว่า ทำไมต้องเสียภาษี เราอาจจะคุ้นเคยกับคำตอบที่ว่า เราเสียภาษีเพื่อเอาเงินไปพัฒนาประเทศ แต่จริง ๆ แล้วภาษีมีความสำคัญมากไปกว่าแค่การเอาเงินไปพัฒนาประเทศ
เพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ รัฐบาลต้องการแหล่งเงินทุนที่ยั่งยืนสำหรับนโยบายทางสังคมและการลงทุนสาธารณะในโครงการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการให้บริการด้านสุขภาพ การศึกษา โครงสร้างพื้นฐาน และบริการอื่น ๆ จึงถือได้ว่าภาษีมีความสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายร่วมกันของสังคมที่มั่นคง ยั่งยืน และมีระเบียบ ดังนั้น เพื่อการพัฒนาสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ รายได้ที่รัฐบาลจะสรรหามาได้ก็คือภาษีนั่นเอง และการเก็บภาษีนั้นไม่เพียงแต่เป็นการจ่ายสำหรับสินค้าและบริการสาธารณะเพื่อสังคมต่าง ๆ เท่านั้น แต่ยังเป็นส่วนประกอบสำคัญระหว่างประชาชนกับเศรษฐกิจ การเพิ่มและการใช้ภาษีสามารถกำหนดความชอบธรรมของรัฐบาลได้ อีกทั้งภาษียังทำให้รัฐบาลมีความรับผิดชอบที่จะส่งเสริมการบริหารรายได้จากภาษีอย่างมีประสิทธิภาพและการจัดการการเงินเพื่อประโยชน์แห่งสาธารณะที่ดีในวงกว้างมากขึ้นอีกด้วย
ใครบ้างที่ต้องเสียภาษี และใครบ้างที่ไม่ต้องเสียภาษี
จริงอยู่ที่การเสียภาษีนั้นเป็นหน้าที่ของทุก ๆ คน แต่สำหรับภาษีนั้นยังมีกลุ่มบุคคลที่ได้รับการยกเว้นและยังไม่ต้องเสียภาษี นั่นก็คือกลุ่มบุคคลรายได้ต่ำ นั่นเอง และเมื่อมีรายได้ต่อปีถึงเกณฑ์ก็ต้องจ่ายภาษี โดยอัตราการจ่ายภาษี มีดังนี้
- ไม่เสียภาษี สำหรับผู้มีรายได้สุทธิ 0-150,000 บาทต่อปี
- อัตราเสียภาษี 5% สำหรับผู้มีรายได้สุทธิ 150,001-300,000 บาทต่อปี
- อัตราเสียภาษี 10% สำหรับผู้มีรายได้สุทธิ 300,001-500,000 บาทต่อปี
- อัตราเสียภาษี 15% สำหรับผู้มีรายได้สุทธิ 500,001-750,000 บาทต่อปี
- อัตราเสียภาษี 20% สำหรับผู้มีรายได้สุทธิ 750,001-1,000,000 บาทต่อปี
- อัตราเสียภาษี 25% สำหรับผู้มีรายได้สุทธิ 1,000,001-2,000,000 บาทต่อปี
- อัตราเสียภาษี 30% สำหรับผู้มีรายได้สุทธิ 2,000,001-5,000,000 บาทต่อปี
- อัตราเสียภาษี 35% สำหรับผู้มีรายได้สุทธิ 5,000,001 บาทต่อปีขึ้นไป
ยื่นภาษีไม่ทัน จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง
ในทุก ๆ ปีทางกรมสรรพากรจะประกาศรอบกำหนดในการยื่นภาษีของปีนั้น ๆ มาให้ โดยหากยื่นภาษีช้า ยื่นภาษีไม่ทัน ก็จะมีการลงโทษกันเกิดขึ้น โดยหากยื่นภาษีไม่ทัน จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง มาดูกัน
- ยื่นภาษีช้ากว่ากำหนด ต้องโดนโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท แต่สามารถขอลดค่าปรับได้
- กรณีมีภาษีต้องชำระ แต่ชำระไม่ทันกำหนด ต้องไปยื่นที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา และชำระเงินภาษี พร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ รวมทั้งค่าปรับไม่เกิน 2,000 บาท
- ยื่นแบบเกินกำหนดเวลา ต้องชำระเงินภาษี พร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ รวมทั้งค่าปรับไม่เกิน 2,000 บาท
- ยื่นเอกสารเพิ่มเติมหลังกำหนดเวลา ต้องชำระเงินภาษี พร้อมเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ แต่ไม่ต้องจ่ายค่าปรับ
- กรณีขอผ่อนชำระภาษี หากจ่ายงวดใดงวดหนึ่งเกินเวลาจะหมดสิทธิ์การผ่อนชำระ ต้องชำระภาษีที่ค้างอยู่ทั้งหมด โดยต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของเงินภาษีงวดที่เหลือ
สรุป ยื่นภาษี ไม่ยากอย่างที่คิด
การยื่นภาษีนั้นเป็นหน้าที่ที่ทุกคนควรต้องทำ การไม่ยื่นภาษีหรือยื่นช้าอาจทำให้มีการเสียค่าปรับกันเกิดขึ้นได้ ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงค่าใช้จ่ายที่ไม่มความจำเป็น แนะนำให้ยื่นภาษีให้ตรงเวลาและตรงกำหนด โดยปัจจุบันการยื่นภาษีนั้นทำได้ไม่ยาก เพราะสามารถทำได้บนเว็บไซต์ออนไลน์ จึงช่วยประหยัดเวลา ไม่ต้องเดินทาง แถมยังรวดเร็วอีกด้วย