สำหรับคนวัยทำงาน แน่นอนว่าต้องมีช่วงหนึ่งที่รู้สึกเหนื่อยล้าหรือเบื่อหน่ายกับงานที่ทำอยู่ แต่อารมณ์ที่ว่านั้นจะเป็นอารมณ์ที่ผ่านเข้ามาแล้วก็ผ่านไป หรือจะเป็น burnout syndrome เราคงต้องดูลึกกันไปถึงสัญญาณเตือนอาการเหล่านั้นกันให้แน่ชัดอีกที และเนื่องจากว่าการทำงานนั้นเต็มไปด้วยความเครียดอยู่แล้ว เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราเพียงแค่เครียดกับเนื้องานหรือมีอาการ burnout ในบทความนี้ GreatDay HR จะพาคุณผู้อ่านไปทำความรู้จักกับ burnout syndrome กันให้มากขึ้น
Burnout Syndrome คืออะไร
องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้ให้ความหมายของ burnout syndrome คือ ภาวะหมดไฟในการทำงาน ซึ่งเป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากความเครียดเรื้อรังในสถานที่ทำงาน โดยอาการที่แสดงออกอย่างเด่นชัด คือ มีความรู้สึกสูญเสียพลังงานอย่างมาก หรือรู้สึกอ่อนล้า รู้สึกไม่มีความสุขในการทำงาน และประสิทธิภาพของงานลดลง
สัญญาณทั่วไปของภาวะ Burnout Syndrome คืออะไร
ภาวะหมดไฟ หรือ burnout syndrome เป็นสภาวะของความอ่อนล้าทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้เมื่อประสบกับความเครียดในระยะยาวในการทำงาน หรือเมื่อทำงานในบทบาทหน้าที่ที่ทำให้ร่างกายหรืออารมณ์ต้องเผชิญกับความตึงเครียดเป็นเวลานาน โดยสัญญาณทั่วไปของภาวะหมดไฟ มีดังนี้
- รู้สึกเหนื่อยหรืออ่อนเพลีย
- รู้สึกหมดหนทาง ติดกับดักในการทำงานจนทำให้รู้สึกอยากยอมแพ้
- รู้สึกโดดเดี่ยว ไม่มีใครคอยช่วยเหลือสนับสนุน
- มีทัศนคติต่อการทำงานในแง่ลบ
- สงสัยในตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองล้มเหลว
- มักผัดวันประกันพรุ่ง และใช้เวลานานกว่าจะทำงานต่าง ๆ ให้สำเร็จ
- รู้สึกท่วมท้น รู้สึกหลาย ๆ อย่างเริ่มประเดประดังเข้ามาในชีวิต
อาการที่บ่งบอกว่ากำลังเผชิญภาวะ Burnout Syndrome คืออะไรบ้าง
สำหรับใครที่สงสัยว่าตัวเองกำลังเผชิญอยู่กับภาวะหมดไฟหรือไม่ GreatDay HR แนะนำให้ลองสำรวจตัวเองดูว่ามีอาการที่บ่งชี้ว่ากำลังมีภาวะหมดไฟ ซึ่งอาการสามารถแสดงออกได้ทั้งทางกาย ทางอารมณ์ และทางพฤติกรรม ดังนี้
อาการทางร่างกาย
- รู้สึกเหนื่อย
- นอนหลับยาก
- ความอยากอาหารเปลี่ยนไป อาจกินมากขึ้นหรือน้อยลงกว่าปกติ
- มีอาการปวดหัวหรือปวดกล้ามเนื้อ
อาการทางอารมณ์
- ขาดแรงจูงใจ
- เกิดความรู้สึกสงสัยในตนเอง
- รู้สึกว่าตัวเองล้มเหลว
- รู้สึกอ้างว้าง โดดเดี่ยว หรือรู้สึกเหงา
- รู้สึกไม่มีความสุขในการใช้ชีวิต
อาการทางพฤติกรรม
- แยกตัวออกจากสังคม
- ทำงานได้ไม่ดีเหมือนแต่ก่อน
- มีอารมณ์ฉุนเฉียว โกรธง่าย
ภาวะหมดไฟ ความเครียด และอาการซึมเศร้า
หลาย ๆ คนอาจจะยังไม่รู้จักภาวะหมดไฟดี จึงทำให้เกิดความสับสนระหว่างภาวะนี้กับความเครียดหรืออาการซึมเศร้า จนทำให้ภาวะหมดไฟถูกมองข้ามในสถานที่ทำงาน แต่ความจริงแล้วภาวะหมดไฟ ความเครียด และอาการซึมเศร้านั้นก็มีความสัมพันธ์กันอย่างน่าประหลาดใจไม่น้อย
งานที่ต้องรับผิดชอบจนเกินขอบเขตความสามารถในการจัดการอาจเป็นสาเหตุให้เกิดความเครียด และเมื่อความเครียดจากการทำงานสะสมเป็นเวลานานเข้าโดยไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้อง ก็นำไปสู่ภาวะหมดไฟ หรือ burnout syndrome คือเรียกง่าย ๆ ว่า ความเครียดสะสมทำให้เกิดภาวะหมดไฟ ในทางกลับกันเมื่อทำงานมาถึงจุด ๆ หนึ่งที่ทำให้ร่างกายเหนื่อยล้า ไม่มีเวลาพักผ่อน ก็อาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าจนเกิดเป็นภาวะหมดไฟได้ด้วยเช่นเดียวกัน หรือเมื่อเกิดอาการภาวะหมดไฟแล้ว ร่างกายก็จะแสดงออกมาในรูปแบบของอาการซึมเศร้าเช่นเดียวกันได้อีกด้วย
ทำไมชาวออฟฟิศต้องรู้จัก Burnout Syndrome
ภาวะหมดไฟไม่เพียงแต่ส่งผลต่อหน้าที่การงานเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อสภาวะจิตใจและการใช้ชีวิตประจำวันด้วย เพราะ burnout syndrome นั้นไม่สามารถหายได้ด้วยตัวมันเอง หากยิ่งปล่อยไว้ก็จะยิ่งทำให้อาการแย่ลงกว่าเดิม และหากเพิกเฉยต่อสัญญาณของภาวะหมดไฟ ก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจได้ในอนาคต คุณนอกจากนี้ ยังอาจทำให้สูญเสียความสามารถและพลังงานในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย เมื่อภาวะหมดไฟในการทำงานส่งผลกระทบให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ก็มักจะถูกเข้าใจผิดจากหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงานที่มองข้ามภาวะ burnout syndrome นี้ไปได้
หากกำลังเผชิญกับภาวะหมดไฟ (Burnout Syndrome) ควรทำอย่างไร
การตระหนักรู้ว่ากำลังเผชิญภาวะหมดไฟ ถือว่าเป็นขั้นตอนแรกในการวางแผนเยียวยาภาวะนี้อย่างถูกต้อง เพราะหากไม่รู้ว่าสิ่งที่กำลังเผชิญอยู่คืออะไร ก็ยากที่จะหาทางแก้ไขได้ และเมื่อรู้แล้วกำลังเผชิญอยู่กับภาวะหมดไฟ แนะนำให้ทำดังนี้
ดูแลสุขภาพจิตของตัวเอง
การขอคำปรึกษาจากผู้ให้คำปรึกษาหรือนักบำบัดเป็นอีกหนึ่งวิธีที่มีประสิทธิภาพ ในการรับมือกับภาวะหมดไฟ การมีสถานที่ที่ปลอดภัยในการพูดคุยกับคนที่ไม่ใช่สมาชิกในครอบครัว เพื่อน หรือเพื่อนร่วมงาน ถือเป็นการแก้ปัญหาได้โดยไม่มีอคติเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะผู้ให้คำปรึกษาหรือนักบำบัดเป็นคนกลางที่จะมาช่วยแก้ไขปัญหาและเป็นผู้ที่ได้รับการอบรมฝึกฝนมาโดยเฉพาะทาง
จัดสรรตารางเวลาชีวิต การทำงาน และการพักผ่อนให้สมดุล
ชีวิตคนเราไม่ได้มีแต่เรื่องงานให้จัดการเท่านั้น แต่ยังมีชีวิตส่วนตัวและการพักผ่อนที่ควรจัดสรรให้สมดุล ไม่เช่นนั้นอาจทำให้เกิดปัญหาตามมา อย่างภาวะหมดไฟ เป็นต้น หากกำลังประสบกับปัญหาตารางงานแน่นจนไม่มีเวลาพักผ่อนหรือไม่มีเวลาให้กับชีวิตส่วนตัว แนะนำให้จัดตารางเวลาชีวิตเสียใหม่ และพยายามทำให้ได้ตามตารางเวลาที่จัดเอาไว้ หากมีงานที่ค้าง ให้ทำในวันถัดไป อย่าฝืนทำต่อจนเสร็จ เพราะอาจทำให้ตารางเวลาชีวิตและการพักผ่อนเสียสมดุลได้
ออกกำลังกาย
การออกกำลังกายมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย รวมถึงการช่วยให้สามารถจัดการกับอาการเหนื่อยหน่ายหรือภาวะหมดไฟได้อีกด้วย การออกกำลังกายไม่จำเป็นต้องเข้ายิมเสมอไป แต่สามารถทำได้ที่บ้านหรือในห้องพัก อาจใช้เวลาไม่กี่นาที อาจจะเป็น 10 นาที 15 นาทีในทุก ๆ วัน ซึ่งก็ถือว่าดีกว่าไม่ได้ออกกำลังกายเลย
ฝึกฝนการตระหนักรู้ในตัวเอง
แนวความคิดของการมีสติและการตระหนักรู้ในตัวเองเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้เราหมั่นสังเกตุการเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกาย อารมณ์ และพฤติกรรมได้เป็นอย่างดี วิธีฝึกฝนการตระหนักรู้ในตัวเองคือหายใจเข้าลึก ๆ และหายใจออกช้า ๆ จดจ่อกับการหายใจเข้าและการหายใจออกเหมือนการทำสมาธิ ซึ่งจะช่วยให้สามารถโฟกัสกับสิ่งที่อยู่ภายในความคิดหรือความรู้สึกของเราได้เป็นอย่างดี
หางานอดิเรกทำ
หากกำลังรู้สึกว่าไม่มีความสุขกับการทำงาน การมองหาอะไรบางอย่างทำนอกจากงานถือเป็นพื้นที่ปลอดภัย หรือ safe zone ที่ช่วยเพิ่มความสุขให้กับชีวิตได้ เช่น การมองหางานอดิเรก การเป็นอาสาสมัคร หรือการเข้าร่วมกลุ่มคนที่มีความชอบเหมือนกัน กิจกรรมเหล่านี้จะช่วยให้เรามีความสุขกับการใช้ชีวิตมากขึ้น
สรุป Burnout Syndromed คือ ภาวะหมดไฟที่ต้องระวัง!
ไม่ว่าจะทำงานด้านไหน ใคร ๆ ก็มีโอกาสที่จะเผชิญกับ burnout syndrome หรือภาวะหมดไฟกันได้ทั้งนั้น โดยอาการจะแสดงออกมาผ่านทั้งทางร่างกาย อารมณ์ และพฤติกรรม วิธีแก้คือต้องตระหนักรู้ให้เท่าทันร่างกาย อารมณ์ และพฤติกรรมของตัวเอง จัดสรรเวลาให้เกิดความสมดุล อีกทั้งยังต้องหมั่นดูแลสุขภาพจิตให้ดีอยู่เสมอ การมองหางานอดิเรกหรือการออกกำลังกายก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภาวะหมดไฟนี้ได้
และเพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระหน้าที่ในการทำงานของเหล่า HR ทาง GreatDay HR เองก็มีระบบบริหารทรัพยากรบุคคล ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ครบวงจรที่ช่วยให้การบริหารงาน HR ง่ายและสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการบันทึกเวลางาน การคำนวณเงินเดือน การบันทึกกิจกรรมต่าง ๆ รวมไปถึงการสรรหาพนักงานเข้าองค์กร ซึ่งสามารถทำได้ผ่านระบบออนไลน์อย่างง่ายดาย